Print this page

เซ็นทรัลแล็บไทย-สมาคมนักวิจัย ร่วมผลักดันมาตรฐานวิเคราะห์กัญชงกัญชา


เซ็นทรัลแล็บไทย จับมือ สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย นำข้อมูลด้านวิชาการ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จะมีส่วนผสมของกัญชง กัญชา ภายใต้โครงการความร่วมมือศูนย์พัฒนาบุคลากรวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรม และการวิเคราะห์มาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานนานาชาติเพื่ออุตสาหกรรม และพาณิชย์ (QAR)

นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (แห่งประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย เพื่อเดินหน้าโครงการความร่วมมือศูนย์พัฒนาบุคลากรวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรม และการวิเคราะห์มาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานนานาชาติเพื่ออุตสาหกรรม และพาณิชย์ (QAR) โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมบูรณาการทางข้อมูลทางวิชาการจากสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยเซ็นทรัลแล็บไทยจะทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนสามารถนำไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศไทย

4

นายชาคริต กล่าวว่า หนึ่งในการตรวจวิเคราะห์ที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการจำนวนมาก คือ การตรวจวิเคราะห์ กัญชง กัญชา ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด เซ็นทรัลแล็บไทยในฐานะห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ของรัฐบาลที่ได้รับใบอนุญาตครอบครอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถให้การตรวจวิเคราะห์ ได้ตั้งแต่ ต้นน้ำ ถึง ปลายน้ำ ประกอบด้วย การตรวจวิเคราะห์สายพันธ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นนี้ การตรวจแปลงปลูก ตรวจปัจจัยทางผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน การตรวจหาสารสำคัญ THC CBD รวมถึงการตรวจโรงงานผลิต ตามมาตรฐาน COA/GMP และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น สารสกัดทางการแพทย์ สมุนไพรแพทย์แผนไทย เวชสำอางค์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็นต้น

“พืชเศรษฐกิจ กัญชง กัญชา กระท่อม เป็นเรื่องใหม่มาก เซ็นทรัลแล็บเองก็ได้รับรองให้ตรวจสารสำคัญของพืชเศรษฐกิจใหม่ เป็นแล็บที่ได้รับอนุญาตในการครอบครองจาก อย. เรามีเทคนิคและองค์ความรู้ในการตรวจสอบสาระสำคัญ THC CBD ซึ่งเรามีแล็บที่พร้อม เชื่อว่าเราจะช่วยสนับสนุนให้กับสมาคมนักวิจัยฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ เวชสำอาง อาหาร นอกจากนี้เรายังสามารถทำการอบรมร่วมกันในด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ และในส่วนของผู้ประกอบการเชื่อว่าสมาคมนักวิจัยจะช่วยได้มาก และอยากให้ไม่มีคำว่า งานวิจัยขึ้นหิ้ง และเชื่อว่างานวิจัยที่จะทำร่วมกันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสามารถนำไปใช้ได้จริง” นายชาคริต กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งเราต้องมีการตรวจตั้งแต่การปลูก การสกัด จนถึงขั้นตอนการนำไปผสมกับผลตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะไม่เกินสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ก็จะชาวยให้สินค้าได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และหากได้สารสกัด CBD ในปริมาณมากขึ้นก็สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ คือเราต้องตรวจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการฝึกอบรม และพัฒนาหลักสูตรเพื่อผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการความร่วมมือศูนย์พัฒนาบุคลากรวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรม และการวิเคราะห์มาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานนานาชาติเพื่ออุตสาหกรรม และพาณิชย์ (QAR) ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณด้วย

ที่มา : workpointtoday