จับตาเส้นทางธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในปี 64

on .

จับตาเส้นทางธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในปี 64

สำหรับปี 2564 ความท้าทายของธุรกิจต่างๆ ยังคงอยู่ที่ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โอกาสของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง ตลอดจนต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ส่วนสิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเข้ามาก็คือ ปริมาณสินค้ากลุ่มอาหารที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงน้ำหนักการกระจายการลงทุนออกสู่ภูมิภาคมากขึ้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะมีส่วนต่อการเติบโตของการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทย วันนี้แอดมินข้อหยิบยกบทความที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มาให้ท่านผู้ประกอบได้ได้จับตาการดำเนินธุรกิจกันต่อไปในปีนี้ ดังนี้

ข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดปี 2564 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระไว้ว่าหลังวิกฤต COVID-19 ด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามากขึ้น อีกทั้งมาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคู่ค้าสามารถหยิบยกขึ้นมาเพื่อปกป้องทางการค้าได้ ยังจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคตและตอบสนองวิถีชีวิต New Normal ที่ตระหนักถึงสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม สังคมและ ธรรมาภิบาลมากขึ้นในฝั่งของผู้บริโภค โดยสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดสูง คือ อาหารฟังก์ชั่นนอล ออร์แกนิค โปรตีนทางเลือกจากพืช/แมลง อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง/พร้อมทาน รวมถึงสิ่งปรุงรสอาหาร และสมุนไพร

อาหารและเครื่องดื่ม คือสินค้าส่งออกศักยภาพที่ยังเติบโตในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 20,967.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 (YoY) ส่วนหนึ่งอาจเพราะอาหารคือสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ และไทยมีความพร้อมด้านการผลิต ภายใต้การรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ค่อนข้างทำได้ดีท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้คู่แข่งบางประเทศจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตไปชั่วคราว จึงทำให้คู่ค้าคงความเชื่อมั่นและมีคำสั่งซื้อกับไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสูงกว่าในช่วงปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงคู่ค้าใหม่ที่มีความต้องการสินค้าอาหารจากไทยในอัตราเร่งภายหลังวิกฤต เช่น สิงคโปร์ (เพิ่มการนำเข้าไก่สด) ฮ่องกง (เพิ่มการนำเข้าสุกรสด) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2563 การส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยังตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (YoY) โดยสินค้าที่ได้อานิสงส์อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีมาตรฐานการผลิตสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังตอบสนองการใช้ชีวิต New Normal ของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตได้ดี (สะอาด-ปลอดภัย-เก็บได้นาน-สะดวก-ทำทานเองได้ง่าย) ซึ่งได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง) ผลไม้ (สด/แช่แย็นแช่แข็ง) กลุ่มอาหารแปรรูป (กลุ่มอาหารทะเล/ผัก)

สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเข้ามาในปี 2564 มี 2 ประเด็นคือ

1) ปริมาณการผลิตสินค้าอาหารกลุ่มวัตถุดิบในตลาดโลกเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ จากกำลังการผลิตที่คาดว่าจะทยอยกลับมาโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก อาทิ จีน บราซิล ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐฯ แต่ยังสวนทางกับสภาพตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากกำลังซื้อที่ไม่ฟื้นตัว ซึ่งน่าจะทำให้แนวโน้มผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลกและสต๊อกสินค้าในกลุ่มอาหารยังอยู่ในระดับสูง เช่น สินค้าปศุสัตว์ (ไก่/สุกร/โค) สินค้าประมง (กุ้ง) โดยมีการประเมินว่า ปี 2564 ปริมาณการผลิตสินค้าในกลุ่มปศุสัตว์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.66 ล้านตัน ขยายตัวได้ราวร้อยละ 2.4 (%YoY) ส่วนผลผลิตกุ้งจะอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8.4 (%YoY) ดังนั้น การส่งออกสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ของไทย อาจเติบโตต่อไปได้ แต่เป็นไปในทิศทางที่ชะลอลง

2) ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การลงทุนขยายการผลิตในประเทศ CLMV โดยมุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคในประเทศ หรืออาศัยประโยชน์จากมาตรการภาษีในรูปแบบทวิภาคี เพื่อผลิตและส่งออกไปตลาดปลายทาง ทดแทนการผลิตและส่งออกจากไทย ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางกลุ่มนับตั้งแต่ปี 2564 ให้ภาพที่ชะลอตัว เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ไก่ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเสียเปรียบคู่แข่งจากการแข่งขันด้านราคา

สำหรับสินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญจะมาจาก

1) กลุ่มอาหารที่ไทยมีสัดส่วนของการส่งออกสูงและมีอัตราการขยายตัวสูง ซึ่งได้แก่ กลุ่มผลไม้สดและสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไก่ จากความต้องการในตลาดจีน (ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทย) ที่ยังอยู่ในระดับสูง

- ผลไม้ ที่กลุ่มผลไม้สดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากเครือข่ายลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ตลอดจนการเปิดด่านนำเข้าผลไม้เพิ่มอีก 2 ด่าน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทางการจีน (ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง)

- ปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ที่คาดว่าจะยังได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อในตลาดจีนต่อเนื่องหลังจีนให้การรับรองโรงงานไก่ในไทยเพิ่มในช่วงปีก่อนหน้า แม้ว่าการฟื้นตัวของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรที่ทยอยดีขึ้นบวกกับภาวะการผลิตในจีนที่เริ่มกลับมาดี อาจส่งผลให้ความจำเป็นต้องนำเข้าไก่ของจีนอาจเติบโตในทิศทางชะลอตัว สำหรับไก่แปรรูปนั้น คำสั่งซื้อน่าจะกลับมาบางส่วนในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ จากแผนการเตรียมเปิดประเทศในช่วงเมษายน 2564 และโอกาสกลับมาจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้อีกครั้ง

2) กลุ่มสินค้าอาหารที่มีสัดส่วนการส่งออกไม่สูงมากนัก แต่กลับเติบโตได้ดี เช่น สิ่งปรุงรสอาหารและสมุนไพร น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าศักยภาพใหม่ที่ไทยควรเร่งขยายตลาดมากขึ้น เพราะตอบโจทย์การบริโภคยุคใหม่ที่หันมานิยมการบริโภคอาหารในบ้านและต้องการสินค้าที่ดีกับสุขภาพมากขึ้น

ส่วนกลุ่มสินค้าที่อาจจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าการส่งออก คือ กลุ่มสินค้าอาหารที่มีสัดส่วนการส่งออกที่สูงแต่เติบโตได้จำกัดหรือมีแนวโน้มจะหดตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป เนื่องจากฐานที่ขยับสูงขึ้นในปี 2563 จากความต้องการที่เร่งขึ้นโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ แต่ด้วยสต็อกสินค้าที่น่าจะมีเพียงพอในระดับหนึ่ง อาจทำให้การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว และสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้ง ที่ผลผลิตในตลาดโลกยังล้นตลาด จากความต้องการกลุ่มธุรกิจ Horeca (โรงแรม/ร้านอาหาร/จัดเลี้ยง) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สำคัญยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเดินหน้าไปยังธุรกิจใด ความสำคัญคือ มาตรฐาน ที่ทุกผลิตภัณฑ์จะต้องคงยึดมั่น โดยเซ็นทรันแล็บไทย พร้อมยินดี ให้บริการตรวจทดสอบสินค้าตามมาตรสากล ISO 17025 ที่ทั่วโลกต่างยอมรับ เพื่อยกระดับ เพิ่มความเชื่อมั่น ให้กับผู้ประกอบการ และผู้ซื้อทุกท่านทั่วโลก

ขอบคุณที่มา : https://www.efinancethai.com/Laste.../LatestNewsMain.aspx...


บริษัท ห้องปฎิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด
เลขที่ 2179 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : (66)-2940-5993, (66)-2940-6881-3 l โทรสาร : (66)-2940-6668