สสว. จับมือ CCIC ประเทศจีน และ เซ็นทรัลแล็บไทย ร่วมตรวจรับรองมาตรฐาน พร้อมติด QR Code สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เตรียมความพร้อมก่อนส่งออกไปจีน มั่นใจช่วยลดขั้นตอนและอุปสรรคในการส่งออกไปจีนหลังโควิดทุเลา
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นตลาดสินค้าส่งออกตลาดเดียวที่ยังมีศักยภาพในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในการส่งสินค้าของไทยไปประเทศจีนยังประสบอุปสรรคปัญหาต่างๆ อีกมาก ทั้งในเรื่องของกฎระเบียบของแต่ละมณฑลที่แตกต่างกัน เรื่องมาตรฐานด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การขยายตลาดสินค้าของเอสเอ็มอีไทยเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ผอ.สสว. เผยว่า ที่ผ่านมา ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (เซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ สสว. ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และ China Certification & Inspection (Group) Co., Ltd บริหารงานโดย China National Import & Export Commodities Inspection Corporation (CCIC) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจ ตรวจสอบสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก โดยความร่วมมือดังกล่าว เพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังประเทศจีน และนั่นถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของ สสว. ในการนำผู้ประกอบการสู่ตลาดจีน
ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีสินค้ามะพร้าวน้ำหอม จากบริษัท เอนซี โคโคนัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนมาก โดยทางเซ็นทรัลแล็บและ CCIC ได้ตรวจรับรองมาตรฐานมะพร้าวน้ำหอมของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศจีนกำหนด โดยสินค้ามะพร้าวน้ำหอม ได้มีการติดสติกเกอร์ QR Code เพื่อรับรองมาตรฐาน และสร้างความมั่นใจให้ความผู้บริโภคจีน ว่าเป็นสินค้ามะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง
ผอ. สสว. กล่าวอีกว่า เมื่อสแกน สติกเกอร์ QR Code จะแสดงข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่
1. ชื่อผลิตภัณฑ์ และข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาด น้ำหนัก จำนวนการบรรจุ วิธีบริโภค เป็นต้น
2. แหล่งกำเนิดสินค้า
3. ชื่อผู้ผลิต
4. ข้อมูลบริษัทอย่างย่อ
5. เอกสารสำคัญการจดทะเบียนต่างๆ เช่น เอกสารจดเครื่องหมายการค้า ใบรับรอง ใบประกาศนียบัตร เป็นต้น
6. ข้อมูลภาพกระบวนติดตามของข้อมูลสินค้า และการขนส่ง
7. หน่วยตรวจสอบและเอกสารรับรองต่างๆ เช่น ใบตรวจทางวิทยาศาสตร์ และ
8. ชื่อด่านท่าเรือที่ส่งออกและปลายทางที่นำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าที่มาจากประเทศไทย ให้กับผู้บริโภคในประเทศจีน
“หลังจากที่โครงการนำร่องในสินค้ามะพร้าวน้ำหอมประสบผลสำเร็จ สสว. จะผลักดันสินค้าของไทยอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่างเช่น ผลไม้สดซึ่งมีตัวเลขการส่งออกสูงถึง 115.0 เปอร์เซ็นต์ ให้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และติดสติกเกอร์ QR Code จากเซ็นทรัลแล็บ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนเกิดความมั่นใจ และทำให้สินค้าของไทยขยายตลาดในจีนได้กว้างขวางมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าของไทยมีโอกาสในการเจาะตลาดจีนมากขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลง”
นอกจากนี้ ในปี 2564 สสว. มีแผนที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการตรวจสอบเซ็นทรัลแล็บผ่านโครงการต่างๆ ของ สสว. รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบอุปสรรคในการส่งออกสินค้าสู่ตลาดจีน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1. แยกตามประเภทปัญหา เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาดังกล่าวไปพร้อมๆ กันในทุกๆ สินค้า เช่น ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ตามที่กำหนด มาตรฐานสินค้า และขั้นตอนการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ และ 2. แยกตามประเภทกลุ่มสินค้า เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทมีความต้องการด้านมาตรฐานต่างกัน โดยอาจจะทดลองในสินค้าประเภทเดียวกันก่อนในขั้นต้น นอกจากนี้ จะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าของเอสเอ็มอีให้สูงขึ้น
“มาตรการในการรับรองมาตรฐานร่วมกันที่ต้นทางการผลิตในไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เอสเอ็มอีไทย และลดอุปสรรคในการส่งออกไปตลาดจีนได้มาก ทำให้สินค้าไทยผ่านไปยังมณฑลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะทั้งประเทศจะใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการส่งออก และการตรวจสอบต่างๆ ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น” นายวีระพงศ์ กล่าว
https://www.centrallabthai.com/index.php/th/news/activity-news/item/386-164913072563#sigProGalleria7281400da5